ยินดีตอนรับ..

งานประชาสัมพันธ์โรงเรียนบ้านสะเดา ขอขอบพระคุณทุกท่านที่กรุณาแวะมาเยี่ยมเยียน...

วันพฤหัสบดีที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2554

พิธีกวนข้าวทิพย์

(หากภาพไม่ปรากฏ กรุณา click..ที่ชื่อเรื่องเพื่อดูสไลด์)
เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2554 ที่ผ่านมา นายสงวน คำลอย ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านสะเดา
ได้ร่วมพิธีกวนข้าวทิพย์ เนื่องในเทศกาลออกพรรษา ณ วัดศิลาอาสน์ ตำบลสะเดา
โดยมีนายนิคม มณีจันทร์ นายอำเภอบัวเชด เป็นประธานในพิธี ในการนี้
ได้รับความร่วมมืออย่างดียิ่งจากผู้นำชุมชน ผู้นำท้องถิ่น ประชาชนตลอดจนนักเรียนเข้าร่วมกิจกรรม
ประเพณี/พิธีกวนข้าวทิพย์
(คัดลอกจาก พราหมณ์ดอทเน็ต http://phram.net/ )

 ข้าวมธุปายาสเป็นอาหารหวานอย่างหนึ่ง บางครั้งเรียกว่าข้าวกระยาทิพย์ หรือ ข้าวทิพย์ หรือ ข้าวมธุปายาสยาคู หรือ ข้าวยาคู ประเพณีการกวนข้าวมธุปายาสนี้ มีขึ้นแต่โบราณตามความเชื่อในพุทธประวัติที่ นางสุชาดา หุงข้าวด้วยน้ำนมโคล้วนเรียกว่า “มธุปายาส” ตักใส่ถาดทองคำจะนำไปบวงสรวงเทวดา ครั้นได้พบสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประทับนั่งอยู่ สำคัญว่าเป็นเทวดาจึงน้อมถวายมธุปายาสทั้งถาด หลังจากพระพุทธองค์เสวยมธุปายาสนี้แล้ว ก็ทรงบรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณในคืนนั้นเอง จึงเชื่อกันว่าข้าวมธุปายาสเป็นอาหารวิเศษ ผู้มีวาสนาได้รับประทาน จะพ้นจากโรคภัย ร่างกายแข็งแรง มีสติปัญญาดี เป็นสิริมงคลต่อชีวิต
การกวนข้าวมธุปายาสในประเทศไทยมีหลักฐานตั้งแต่สมัยสุโขทัย สมัยกรุงศรีอยุธยา สืบเนื่องมาจนสมัยต้นรัตนโกสินทร์ แม้ในราชสำนักก็นิยมทำเพื่อถวายพระในงานพระราชพิธีต่างๆ เช่นในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก โปรดฯ ให้มีการถวายข้าวยาคูในพระราชพิธีเดือนสิบ ในปัจจุบันแม้ว่าพระราชพิธีกวนข้าวมธุปายาสจะได้ยกเลิกไปแล้ว แต่ในหมู่ประชาชนยังคงมีการกวนข้าวมธุปายาสอยู่ โดยทำเป็นประเพณีที่ชาวบ้านจะร่วมแรงร่วมใจกัน เป็นการสร้างความสามัคคีในชุมชน มักนิยมทำพร้อมกับพิธีพุทธาภิเษก เช่นชาวภาคกลางทำถวายพระในฤดูก่อนเดือนสิบสอง ชาวภาคใต้สมัยก่อนทำกันในเดือนหก บ้าง เดือนสิบบ้าง โดยถือเอาระยะที่ข้าวเริ่มผลิรวงเป็นน้ำนม ปัจจุบันนิยมทำกันในเดือนสามต่อเนื่องกับวันมาฆบูชา ชาวล้านนากวนขึ้นเพื่อถวายเป็นพุทธบูชาในเดือนยี่เพง(วันเพ็ญเดือนสิบสอง) เดือนสี่เพง(วันเพ็ญเดือนหก) เดือนแปดเพง(วันเพ็ญเดือนวิสาขะ)
การกวนข้าวมธุปายาสจะใช้ข้าวที่เก็บจากรวงอ่อน กำลังตั้งท้อง หรือเรียกว่า พอตั้งน้ำนม ฝานแล้วตำให้ละเอียด คั้นเอาแต่น้ำนม พร้อมด้วยเครื่องปรุงอื่นตามสภาพท้องถิ่น และฤดูกาลแตกต่างกันไปอาจประกอบด้วย มะพร้าว มันสำปะหลัง ฝรั่ง ฟักทอง กล้วย แป้งข้าวเหนียว น้ำตาลทราย นม น้ำอ้อย มะละกอ ขนุน ทุเรียน กะทิ กระวาน กานพลู พริกไทย ฯลฯ โดยนำน้ำนมข้าว และเครื่องปรุงผสมลงไป แล้วคลุกให้เข้ากัน นำไปกวนในกระทะจนได้ความหนืดตามต้องการ ตัดแบ่งส่วนหนึ่งถวายพระที่วัด ส่วนที่เหลือนำไปแจกจ่ายผู้มาร่วมพิธี และญาติมิตร ในการกวนข้าวมธุปายาสบางแห่งจะมีหมอไสยศาสตร์มาร่ายเวทมนต์คาถา มีพระสงฆ์ 9 รูป สวดชัยมงคลคาถา 3 จบ และผู้ที่กวนข้าวมธุปายาสจะต้องเป็นผู้ซึ่งไม่เคยเสียความบริสุทธิ์มาก่อน บางแห่งจะใช้ ผู้กวน 4 คน เป็นชาย 2 คน หญิง 2 คน บางแห่งใช้เฉพาะหญิงพรหมจารี โดยมีหญิงสูงวัยหมดประจำเดือนผู้ถือศีล 5 หรือ ศีล 8 เป็นผู้ช่วย
ประเพณีกวนข้าวมธุปายาสยาคู ประเพณีกวนข้าวมธุปายาสยาคู เชื่อกันว่าแต่เดิมนั้นกระทำโดยพราหมณ์ ตามความเชื่อในศาสนาพราหมณ์ เพราะพุทธศาสนาเกิดขึ้นท่ามกลางอิทธิพลพราหมณ์ ซึ่งเจริญมาก่อน เมื่อมีพราหมณ์เป็นจำนวนมากเปลี่ยนมานับถือพุทธศาสนา ก็นำเอาพิธีการต่าง ๆ ที่ตนเคยทำมาปฏิบัติต่อไปด้วยความเคยชิน พระพุทธองค์ทรงเห็นว่าพิธีการทางศาสนาพราหมณ์บางพิธีนั้นไม่ทำให้เสียหายแก่ผู้ปฏิบัติ กลับทำให้เกิดความศรัทธาในความดีงามและบำรุงกำลังใจก็ไม่ทรงห้ามการปฏิบัติกิจเหล่านั้นแต่ประการใด และพิธีกวนข้าวทิพย์จะต้องทำพิธีบวงสรวงโดยพราหมณ์
ที่มาของประเพณีกวนข้าวมธุปายาสยาคูนั้นมีผู้สันนิษฐานต่างกันออกไปเป็น 2 แนว คือ
แนวแรก พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงกล่าวไว้ในพระราชพิธีสิบสองเดือนว่า
ประเพณีนี้มีที่มาปรากฏอยู่ในพระคัมภีร์ธรรมบทแห่งหนึ่งและในคัมภีร์ มโนถบุรณีอีกแห่งหนึ่ง ทั้งสองคัมภีร์นี้ มีเนื้อความตรงกันว่า พระพุทธองค์ได้ทรงแสดงบุรพชาติของอัญญาโกญทัญญะ ซึ่งมีความประสงค์อันแน่วแน่ที่จะศึกษาธรรมเพื่อให้บรรลุ พระอรหันต์ก่อนผู้อื่น จุดมุ่งหมายในการแสดงของพระพุทธองค์ก็เพื่อที่จะให้พระภิกษุได้ฟังพระองค์ได้ทรงแสดงว่า เมื่อพระพุทธวิปัตสีอุบัติขึ้นในโลก มีกุมพี สองคนพี่น้อง คนพี่ชื่อมหากาฬ คนน้องชื่อว่าจุลกาฬ ทั้งสองคนทำนาข้าวสาลีในนาแปลงเดียวกันเมื่อข้าวกำลังจะออกรวง (ท้อง) จุลกาฬไปในนา เอาท้องข้าวนั้นไปกินก็รู้ว่าหวานอร่อยมาก เลยจะเอาข้าวนั้นไปถวายพระภิกษุ จึงไปบอกพี่ชาย พี่ชายก็ไม่เห็นด้วย อ้างว่าไม่มีใครเคยทำ ทำไปก็สูญเสียข้าวไปเปล่า ๆ แต่จุลกาฬก็รบเร้าอยู่ทุกวัน จนมหากาฬไม่พอใจขึ้นมากทุกที ในที่สุดก็ให้แบ่งนาออกเป็น 2 ส่วน แบ่งกันคนละส่วน จุลกาฬให้ชาวบ้านช่วยกันเก็บข้าวของตนซึ่งกำลังตั้งท้องนั้น ไปผ่าแล้วนำไปต้มด้วยน้ำนมสด ไม่มีน้ำปะปนเลย ผสมเนยใส น้ำผึ้ง น้ำตาลกรวด เป็นต้น นำไปถวายพระพุทธองค์และพระสาวก โดยอธิฐานว่าผลทานนั้นจงเป็นเครื่องให้ตนบรรลุธรรมวิเศษก่อนคนทั้งปวง เมื่อจุลกาฬทำทานแล้วกลับไปดูนา เห็นเต็มไปด้วยข้าวสาลี ก็ยินดียิ่งนัก หลังจากนั้นก็ทำบุญในวาระต่าง ๆ อีก 9 ครั้ง จุลกาฬซึ่งมาเป็นพระอัญญาโกญทัญญะ ก็ทำทานและมีความมุ่งมั่นเช่นเดิมมาโดยตลอดจนในที่สุดก็ได้บรรลุพระอรหันต์ก่อนพุทธสาวก ทั้งปวง จึงน่าจะสันนิษฐานได้ว่าประเพณีการกวนข้าวมธุปายาส น่าจะเนื่องมาจากอรรถกถา ที่กล่าวมาแล้วนี้
แนวที่สอง เป็นความเชื่อของชาวนครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นความเชื่อที่เนื่องกับพระพุทธศาสนามาเช่นกัน เป็นความเชื่อที่สอดคล้องกับพุทธประวัติตอนที่นางสุชาดาถวายข้าวมธุปายาสก่อนอภิสัมโพธิกาล ดังหลักฐานที่ปรากฏในพุทธประวัติเล่ม 1 ปริมกาล ปุริจเฉทที่ 5 ตอนหนึ่งว่า
" ในเช้าวันนั้นนางสุชาดาบุตรีกุฏมพีนายใหญ่แห่งชาวบ้านเสนานิคม ณ ต.อุรุเวลา ปรารถนาจะทำการบวงสรวงเทวดา หุงข้าวมธุปายาสคือข้าวสุกหุงด้วยน้ำนมโคล้วนเสร็จแล้ว จัดลงในถาดทองนำไปที่โพธิพฤกษ์ เห็นพระมหาบุรุษนั่งอยู่ สำคัญว่าเทวดาจึงน้อมข้าวปายาสเข้าไปถวาย ในเวลานั้นบาตรของพระองค์เผอิญอันตรธานหาย พระองค์จึงทรงรับข้าวปายาสนั้นทั้งถาดด้วยพระหัตถ์แล้วทอดพระเนตรแลดูนาง นางทราบพระอาการจึงทูลถวายทั้งถาดแล้ว กลับไป พระมหาบุรุษทรงถือถาดข้าวปายาสเสด็จไปสู่ท่าแห่งแม่น้ำเนรัญชรา สรงแล้วเสวยข้าวปายาสหมดแล้วทรงลอยถาดเสียในกระแส……"
หลังจากพระองค์ทรงเสวยข้าวมธุปายาสของนางสุชาดาแล้วก็ทรงบรรลุอภิสัมโพธิญาณในคืนนั้นเอง เหตุนี้ชาวพุทธโดยทั่วไปในเมืองนคร จึงเชื่อกันว่า ข้าวมธุปายาส นี่เองที่ส่งผลให้พระพุทธองค์ทรงตรัสรู้ จึงเห็นข้าวมธุปายาสเป็นของดีวิเศษที่บันดาลความสำเร็จได้อย่างเอก เพราะเห็นว่าเมื่อพระพุทธองค์ทรงเสวยข้าวมธุปายาสแล้วทำให้พระองค์เห็นแจ้งในธรรม แสดงว่าข้าวมธุปายาสช่วยเพิ่มพูนพลังจึงก่อให้เกิดปัญญา สมองแจ่มใส ปลอดโปร่งเป็นอย่างยิ่ง จึงเห็นได้ว่าข้าวมธุปายาสก็คือยาขนานวิเศษนั่นเอง
ด้วยความเชื่อดังกล่าวนี้ ประเพณีกวนมธุปายาสยาคูจึงเป็นประเพณีที่ชาวนครศรีธรรมราชปฏิบัติสืบทอดกันมาอย่างแน่นแฟ้น แต่มีข้อปลีกย่อยที่แตกต่างกันไปจากเดิมบ้าง กล่าวคือ แต่เดิมนั้นการกวนข้าวมธุปายาสจะกระทำในเดือนสิบบ้าง เดือนหกบ้าง แต่ปัจจุบันนี้ทำกันในวันขึ้น 13 ค่ำ และ 15 ค่ำ เดือน 3 การกระทำนั้นแต่เดิมใช้ผู้หญิงพราหมณ์และเชื้อพระวงศ์ผู้หญิงซึ่งเป็นพรหมจารีเป็นผู้กวน แต่ต่อมาได้ได้มีการยึดถือในเรื่องนี้กันนัก ซึ่งในปัจจุบันนี้ชาวเมืองมักจะหาเครื่องปรุงมาร่วมกันที่วัดแทนที่จะเป็นตามบ้านเรือนของแต่ละคน

ข้าวมธุปายาส (ข้าวสุกหุงด้วยนมโคจืดด้วยน้ำผึ้ง) ก่อนพุทธกาล (๒๖๓๒) เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะราชกุมาร ได้เสด็จออกทรงผนวช ได้เสวยข้าวทิพย์ของนางสาวสุชาดา บุตรีมหาเศรษฐีแห่งบ้านเสนานิคม ก่อนแต่งงานได้ไปบนกับเทวดาที่ต้นไทรว่า ขอให้ได้แต่งงานกับชายที่มีสกุลและฐานะเสมอกันและได้บุตรคนแรกเป็นชาย ต่อมานางก็สมปรารถนา จึงได้จัดแจงรีดน้ำนมจากแม่โค การรีดนมจากแม่โควันนั้นรีดง่ายเกินคาด แม้ว่าลูกโคไม่ได้กินนมในวันนั้น เมื่อนำภาชนะเข้าไปรอง กลับมีน้ำนมไหลออกมาเอง นางสุชาดาจึงจัดแจงปรุงข้าวมธุปายาสไปแก้ขนที่ต้นไทร นางสุชาดาได้พบพระมหาบุราคิดว่าเป็นเทวดา จึงทำพิธีแก้บนถวายภัตตาหารมื้อแรกที่พระองค์เสวยข้าวมธุปยาส (ข้าวทิพย์) แล้วตรัสรู้
ในวันนั้นพระมหาบุรากลับจากเที่ยวภิขาจารแต่เช้าได้ประดับอยู่ ณ โคนต้นไทรนั้น นางสุชาดาพบเข้าสำคัญว่าเป็นเทวดา จึงได้นำข้าวมธุปายาสเข้าไปถวาย เมื่อพระองค์ได้รับแล้ว ก็เสด็จขึ้นทำข้าวมธุปายาสหรือข้าวทิพย์นั้นได้ ๔๙ ก้อน เสวยเสร็จแล้วทรงลอยถาดทองเสียในแม่น้ำ ทรงรับหญ้าคา ๘ กำ จากโสตถิยพราหมณ์ แล้วเสด็จขึ้นโพธิมณฑลประทับที่ใต้ต้นโพธิพฤกษ์ ได้บรรลุพระสัพพัญญูตญาณเป็นพระพุทธเจ้า ในวันเพ็ญวิสาขปุณมี ทรงเสวยวิมุตติสุขอยู่ ณ บริเวณโพธิมณฑลนั้นเป็นเวลา ๗ วัน คือ พุทธคยาในประเทศอินเดีย

ประวัติตามศิลาจารึก ๑ วัดพระเชตุพนฯ
กล่าวถึงชาวรามัญหุงข้าวทิพย์บูชาเทวดาผู้มีฤทธิ์เดช ๕ องค์ แต่คัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาไม่ได้กล่าวถึงการกวนข้าวทิพย์เอาไว้ มีแต่การหุงข้าวมธุปายาส เมื่อตกมาเป็นพิธีไทยแล้วก็มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขให้เหมาะสมแก่กาลเทศะรสนิยมคนไทย
ข้าวทิพย์นี้ เนื่องมาจากข้าวมธุปายาสของพราหมณ์หุงรับประทานกันไม่มีกำหนดแน่นอน เช่น นางสุชาดาหุงไปถวายพระพุทธเจ้าในวันวิสาขะ เดือน ๖ แม้ในอรรถกาธรรมบทก็กล่าวถึงข้าวมธุปายาสไว้หลายเรื่อง เช่น มิคารเศรษฐี พ่อสามีของนางวิสาขา บริโภคข้าวมธุปายาสอันมีน้ำน้อย และในมัคลัตถทีปนีได้กล่าวถึงเศรษฐีขี้เหนียวหุงข้าวมธุปายาสบริโภคเองก็ไม่ได้ระบุไว้ชัดเจนว่าหุงรับประทานเมื่อไหร่ แต่ข้าวมธุปายาสของพราหมณ์ก็ไม่มีสิ่งของที่ใช้ในการกวนมากมายเหมือนข้าวทิพย์ของบ้านเรา ข้าวทิพย์เราถือกันว่าเป็นอาหารที่มีรสอร่อยคล้ายของทิพย์ (เทวดา) เมื่อกวนเสร็จแล้วก็แจกจ่ายกันบริโภคเพื่อระงับโรคภัยไข้เจ็บในร่างกายเพราะก่อนรักษาและนำทิพโอชามาเจือลงในสิ่งของที่จะกวน กับอาราธนาพระสงฆ์ให้ตั้งเมตตาจิตเจริญพระพุทธมนต์ เพื่อให้เกิดสิริสวัสดิมงคลแก่ผู้รับประทานข้าวทิพย์ จึงถือกันว่าศักดิ์สิทธิ์ด้วยอำนาจพระปริตรและเทวานุภาพ ประวัติความเป็นมา
ประเพณีกวนข้าวทิพย์ เป็นพิธีกรรมของศาสนา พราหมณ์ที่มีสอดแทรกเข้ามาปะปนใน
พิธีกรรมทางพุทธศาสนา เพื่อถวายแด่พระภิกษุสงฆ์ และบูชาพระรัตนตรัยอุทิศส่วนกุศล ให้แก่ผู้ตาย ประเพณีกวนข้าวทิพย์ เป็นพระราชพิธีที่กระทำกันในเดือน ๑๐ ซึ่งมีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยและกรุงศรีอยุธยา เป็นราชธานี และได้รับการฟื้นฟูครั้งใหญ่ ในสมัยรัชกาลที่ ๑ และมาละเว้นเลิกราไปในสมัยรัชกาล ที่ ๒ และรัชกาลที่ ๓ แล้วมาได้รับการฟื้นฟู อีกครั้งหนึ่งในสมัยรัชกาลที่ ๔ เป็นต้นมา แต่ในปัจจุบันนี้ส่วนใหญ่จะจัดกันในเดือน ๑๒ บางแห่งก็เดือนหนึ่ง ซึ่งคงจะถือเอาระยะที่
ข้าวกล้า ในท้องนามีรวงขาวเป็นน้ำนม ของแต่ละปี และชาวบ้านก็มีความพร้อมเพรียงกัน
ในจังหวัดกาฬสินธุ์ บริเวณที่ยังคงรักษาประเพณีกวน ข้าวทิพย์ มีเหลืออยู่เพียง ไม่กี่หมู่บ้าน
คือหมู่บ้านหัวงัว อำเภอยางตลาด ยังคงรูปเค้าโครง ของการรักษาประเพณี และมีความเชื่อถือ
อย่างมั่นคง เป็นแบบอย่างที่ดี ซึ่งแฝงด้วยจริยธรรมและคติธรรมอยู่มาก ที่สมควรนำมากล่าวถึง
คือ ความพร้อมเพรียงของ ชาวบ้านทั้งที่ทำนา และไม่ได้ทำนาถึงเวลาก็มาร่วมจัดทำและ ช่วยเหลือโดยยึดถือ ความสามัคคีเป็นหลัก
พิธีกรรม
การจัดพิธีกรรม ยังคงรักษารูปเดิมไว้ โดยมีพราหมณ์ เข้าพิธี มีสาวพรหมจารีซึ่งจะพิถีพิถัน
คัดเลือกจากหญิงสาว ที่ยังไม่มีดอกไม้ (ระดู) ด้วยต้องการบริสุทธิ์สำหรับสาวพรหมจารีที่จะ
เข้าร่วมพิธี ต้องสมาทานศีล ๘ และต้องถือ ปฏิบัติตามองค์ศีลอย่างมั่นคง
ซึ่งการนำข้าวทิพย์ มาถวายพระสงฆ์ เป็นการนำข้าวทิพย์ มาถวายในการตักบาตรเทโว
คือตักบาตร และถวาย พระพุทธเจ้า ที่เปรียบเทวดา เพราะพระองค์เสด็จลงมาจากสวรรค์ (จะเล่าในหัวข้อต่อไป)
>> ข้าวทิพย์ หมายถึง อาหารวิเศษ สำหรับถวายเทวดา( ในความหมายที่นี้หมายถึงองค์สมเด็จ
พระสัมมาสัมพุทธเจ้า) เป็นอาหาร ที่ทำจากสิ่งต่างๆที่คนใช้รับประทานหลากหลายชนิด
จนเรียกว่าทำมาจากอาหาร 108 อย่าง เช่น น้ำนมข้าว ข้าวสาลีเกษตรสาคู เผือก มัน นม เนย
ผักผลไม้ มะพร้าว น้ำอ้อย ฯลฯ นำมาบดจนเป็นแป้ง ผสมในน้ำกะทิกรองเอาแต่น้ำ ใส่น้ำตาล แล้วนำมากวนบนไฟอ่อนๆ จึงเรียกว่า “ประเพณีกวนข้าวทิพย์”
>> ข้าวมธุปายาส เป็นข้าว ที่หุงด้วยน้ำนม อย่างดี ที่นางสุชาดา ธิดาของเศรษฐีหมู่บ้านเสนานิคม ได้นำ ไปบวงสรวงเทพยดาที่ใต้ต้นนิโครธ (ต้นไทรใหญ่) ในวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ได้พบ
พระพุทธองค์ ประทับอยู่ใต้ต้นนิโครธเข้าใจว่าเป็นเทพยดา จึงได้ข้าวมธุปายาสไปถวาย เมื่อพระพุทธองค์ทรงเสวยเสร็จแล้ว แล้วนางได้กล่าวแก่ พระสิทธัตถะว่า “ขอให้พระองค์
จงประสพความสำเร็จ ในสิ่งที่พระองค์ ทรงประสงค์ เช่นเดียวกับที่ดิฉัน ได้ประสพความสำเร็จ ในสิ่งที่ดิฉัน ประสงค์แล้ว เถิดเจ้าข้า” ดังนี้. พระองค์ทรงรับ บิณฑบาตนั้นแล้ว, ปั้นก้อนข้าวเป็น 49 ก้อน แล้วฉันจนหมด. อาหารมื้อนี้เอง เป็น อาหารมื้อก่อนการตรัสรู้ เป็นสมเด็จพระสัมมา
สัมพุทธเจ้า. โดยได้ทรงนำถาดทองที่ใส่ข้าวมธุปายาสนั้นไปลอยน้ำ และทรงอธิษฐานว่า
ถ้าหากพระองค์จะได้ตรัสรู้ก็ขอให้ถาดทองนั้นลอยทวนน้ำขึ้นไป เมื่อพระองค์ทรงวางถาดลงในน้ำ
ก็ปรากฏว่า ถาดทองลอยทวนน้ำขึ้นเหนือน้ำดังคำอธิฐาน ซึ่งพระองค์ทรงถือว่าภัตตาหารมื้อนั้นได้มีส่วนทำให้พระองค์ได้สำเร็จและตรัสรู้อริยสัจ 4 ได้
>> ประเพณีการกวนข้าวทิพย์ เป็นประเพณีที่ชาวบ้านได้ปฎิบัติสืบต่อกันมา มีขั้นตอนการปฎิบัติโดย.... เริ่มจากวันก่อนออกพรรษา 1 วัน คือวันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 11 ทางวัดได้ประกาศให้พุทธศาสนิกชน นำวัตถุดิบที่มี มาบริจาค โดยทางวัดได้จัดทำบัญชีรับบริจาค โดยอุบาสกอุบาสิกา
ได้ลงมาวัดและเตรียมอุปกรณ์ วัตถุดิบต่างๆเช่นขูดมะพร้าว ปอกเปลือกผลไม้ นำมาบด นำมาตำ ละลายน้ำกะทิกรองเอาแต่น้ำ ในหมู่บ้านที่มีคนบริจาคมากจะได้น้ำแป้งกะทิมาก จนเวลาประมาณ บ่าย 2 - 3 โมง ก็นำหญิงพรหมจารีย์ ที่คัดเลือกมาจากเด็กหญิงที่ ยังไม่เป็นประจำเดือนมาจำนวน
4 คน เพื่อนำมาบวช ( นัยว่า เป็นตัวแทนของนาง สุชาดา ผู้นำข้าวมธุปายาส มาถวายพระพุทธเจ้า ) มาบวชชีพราหมณ์ นุ่งขาว ห่มขาว โดยพระภิกษุสงฆ์ เป็นผู้บวชให้ เมื่อบวชเสร็จก็แห่ ขบวน อันประกอบไปด้วย ขบวนหญิงพรหมจารีย์ 4 คน ถือไม้พายกวนข้าวทิพย์ และฟืนก่อไฟ คนละ 1 ดุ้น ขบวนผู้หญิงหาบหาม น้ำปรุงข้าวทิพย์ 4 ถัง ขบวนกลองยาวแห่ รอบโบสถ์ 3 รอบ ในขณะที่แห่วนรอบโบสถ์ พระภิกษุสงฆ์ก็จะสวดมนต์คาถา ลั่นฆ้องลั่นกลองครบ 3 รอบ
หญิงพรหมจรรย์ ก็จะไปที่เตาไฟ อุบาสิกา จะนำน้ำเครื่องทิพย์ มาเทลงกะทะ บนเตาไฟแล้วเติมฟืนที่นางเตรียมมา นางทั้ง 4 คน จะเป็นผู้เริ่มต้นกวน เป็นพิธี หลังจากนั้นก็ให้กลุ่มแม่บ้านและเยาวชนกวนต่อ ไป แล้วนำนางมาลาสิกขาบท ซึ่งชาวบ้านจะติดเตาไฟ 2 - 4 เตา เพื่อที่จะได้กวนช่วยกันจะใช้เวลากวน ประมาณ 30 -40 นาที น้ำเครื่องทิพย์จะจับตัวกันเป็นวุ้นเนื้อเดียวกัน
โดยไม่ติดกะทะก็ถือว่าสุกได้ที่ นำมาเทใส่ถาดแบนแล้วโรยหน้าด้วย ถั่วงา นำไว้ถวายพระ
ในวันรุ่งขึ้น ซึ่งเป็น เช้าของวันออกพรรษา 15 ค่ำ เดือน 11 วันตักบาตรเทโวโรหนะ
>> การตักบาตรเทโวโรหณะ ในวันออกพรรษา หมายถึง การทำบุญตักบาตรพระพุทธเจ้า
และเทวดาที่เสด็จลงมาจากเทวโลก สรวงสวรรค์ หลังจากพระองค์ เสด็จขึ้นไปจำพรรษา
เพื่อเทศนาโปรดพระมารดา เป็นเวลา 3 เดือน ชาวเมืองจึงมีความปิติยินดี ได้ทำบุญตักบาตร ให้พระพุทธเจ้าและเทวดา โดยการจัดทำอาหารวิเศษ ขึ้นมา เรียกว่า “ข้าวทิพย์”
เทโวโรหณะ “การลงจากเทวโลก” หมายถึงการที่พระพุทธเจ้าเสด็จลงจากเทวโลก ตำนานเล่าว่า
ในพรรษาที่ ๗ แห่งการบำเพ็ญพุทธกิจ พระพุทธเจ้าได้เสด็จไปประทับจำพรรษาใน
ดาวดึงสเทวโลก ทรงแสดงพระอภิธรรมโปรดพระพุทธมารดาพร้อมทั้งหมู่เทพ ณ ที่นั้น เมื่อถึงเวลาออกพรรษาในวันมหาปวารณา (วันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑) ได้เสด็จลงมาจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ กลับคืนสู่โลกมนุษย์ ณ ประตูเมืองสังกัสสะ โดยมีเทวดาและมหาพรหมทั้งหลายแวดล้อมลงมา
ส่งเสด็จ ฝูงชนจำนวนมากมายก็ได้ไปคอยรับเสด็จ กระทำมหาบูชาเป็นการเอิกเกริกมโหฬารและพระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงธรรม มีผู้บรรลุคุณวิเศษจำนวนมาก ชาวพุทธในภายหลังได้ปรารภเหตุการณ์พิเศษครั้งนี้ถือเป็นกาลกำหนดสำรับบำเพ็ญการกุศล ทำบุญตักบาตรคราวใหญ่แด่พระสงฆ์ เป็นประเพณีนิยมสืบมาดังปรากฏในประเทศไทย เรียกกันว่าตักบาตรเทโวโรหณะ หรือนิยมเรียกสั้นๆ ว่า ตักบาตรเทโว บางวัดก็จัดพิธีในวันออกพรรษา คือวัน มหาปวารณา ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ บางวัดจัดถัดเลยจากนั้น ๑ วัน คือในวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑
การจุดประธูป ประทีป บนม้ากัณฐกะนำคำอธิษฐานไปสวรรค์ ชาวบ้านหัวงัว ได้สืบทอด
การทำข้าวทิพย์ หลายสิบปีมาแล้ว เริ่มในสมัยอาจารย์ แก้ว เป็นเจ้าอาวาส และมีอุบาสกอุบาสิกาหลายๆท่าน โดยมี คุณยายสุด ภูหานาม ได้พาญาติโยมพุทธศาสนิกชน บูรณะวัดศรีนวลครั้งยิ่งใหญ่ สร้างศาลาการเปรียญหลังใหม่ ในวันออกพรรษา ทางวัดจะจัด 3 คืน โดย
ในคืนวันแรก ขึ้น 14 ค่ำ เดือน 11 กวนข้าวทิพย์ แล้วยังจุดประธูป ประทีป ในการจุด
ประธูปประทีปจะสร้าง ม้ากัณฐกะจำลอง ขึ้นมา 1 ตัว ทำโครงด้วยก้านกล้วย บนเสา 4 ต้น ม้าตัวนี้
จะเป็นพาหนะนำคำอธิษฐานไปบนสรวงสวรรค์ ทำให้คำอธิษฐานเป็นจริง ......... ผู้ที่ทำบุญจะต้องมาจุดประธูปประทีป พร้อมอธิษฐาน ให้ครบ 3 คืน คำอธิษฐานจะเป็นจริงถือเป็นความเชื่อ
ที่ทำให้จิตใจสงบ ผ่อนคลายความทุกข์ใจ ของผู้ที่มีความสุขได้บ้าง และเป็นการทำจิตใจของผู้
ที่มีความสุข ให้มีความร่าเริง แจ่มใสยิ่งขึ้น
ในการทำประธูปประทีป...ก่อนวันออกพรรษาประมาณ 2 สัปดาห์ ในตอนหัวค่ำ ประมาณ1 ทุ่ม
พระภิกษุจะตีกลองโฮม เป็นสัญญาณ ให้แม่ออกพ่อออก (อุบาสกอุบาสิกา) หนุ่มสาว เยาวชน
ลงไปรวมกันที่วัด เพื่อพันประธูปประทีป โดย ใช้วัตถุดิบในการทำคือ ใช้ขลุยจากกาบมะพร้าวผสมกับว่านหอม คือ เนียม และอ้ม พันด้วยกระดาษสมุดนักเรียน มัดด้วยเส้นด้ายรอบๆอีกครั้งหนึ่ง เวลาจุดจุ่มน้ำมันก๊าดจะติดไฟง่าย การละเล่นของเยาวชนและเด็กๆ ในแต่ละคืน 3 คืนนั้นพระภิกษุท่านจะมีการละเล่นให้ พวกหนุ่มๆ และเด็กได้เล่นสนุกสนาน มีรางวัลเล็กๆน้อยๆให้
เกมที่ สนุกๆ คือ การปีนต้นเสาขึ้นไปแย่งชิง ลูกมะพร้าวหลอด( มะพร้าวแห้งที่ไม่สมบูรณ์) บนปลายเสา ใครขึ้นไปได้ก่อน เก็บผลมะพร้าวได้ก่อน จะเป็นผู้ชนะ และอีกเกมหนึ่งเป็นของพวกเด็กๆ คือพระท่าน จะโยนลูกมะพร้าวหลอด ขึ้นไปบนชานวัด ลูกมะพร้าวจะกลิ้งลงมา ใครแย่งได้ก่อน จะเป็นผู้ชนะ
ข้าวทิพย์ สูตรอาหารเทวดา สูตรข้าวทิพย์ ของบ้านหัวงัวจะหอม หวาน มัน กลมกล่อม
เป็นสูตรที่มีมาแต่ดั้งเดิม ดำรงมาตั้งแต่ สมัย คุณยายสุด ภูหานาม สืบทอดต่อมาถึง
คุณยายคำเวิน นระแสน ปัจจุบันนี้จะมีแม่ครัวคอยดูแลกำกับ คือ คุณแม่สิน ภูพันธ์หงษ์คุณแม่ยุพิน พัฒนชัย เป็นผู้ดูแลกำกับสูตรข้าวทิพย์ อาหารวิเศษณ์ ในปีนี้ ทางวัดได้รับบริจาค
เครื่องทำข้าวทิพย์อย่างล้นหลาม โดยมีการจัดทำบัญชีรายชื่อผู้บริจาค โดยให้ฝ่ายแม่ครัว จัดทำดังนี้ คั้นน้ำกะทิเครื่องปรุง ได้ 2 โอ่งมังกร (ประมาณ 10 ปีบ) ใช้เตากวน 2 เตา ได้ข้าวทิพย์ 50 ถาด
เครื่องปรุง...108 อย่าง....อาทิเช่น.. 1.น้ำตาล 40 ก.ก. 2.มะพร้าว 80 ก.ก
.3.แป้งข้าวจ้าว 20 ถุง 4.นมข้นหวาน 30 กระป๋อง 5.เนย 5 ก.ก. 6.แปแซ 5 ก.ก.
7.นมแมว 2 โหล 8.ใบเตย 9.หัวมัน มันเทศ 5 ก.ก. 10.หัวเผือก 5 ก.ก.
11.หัวสาคู 2 ก.ก. 12.ฟักทอง 5 ก.ก. 13.ฟักแฟง ฟักเขียว 5 ก.ก.
14.เมล็ดถั่วลิสง 10 ก.ก.15.งา 2 ก.ก 16.เกลือ 17.น้ำนมข้าว (และแป้งข้าวสาลี)
18.ข้าวเม่า (ใช้โรยขณะใกล้สุก) 19.อ้อย 20.กล้วยสุก 21.และผลไม้ทุกชนิดที่ มี อย่างละ 1-2 ผล เช่น ส้มเขียนวหวาน เงาะกระป๋อง ลิ้นจี่กระป๋อง องุ่น พุทรา ละมุด มังคุด ขนุน น้อยหน่า ฝรั่ง ส้มเช้ง แอปเปิล ฯลฯ
วิธีการ/ขั้นตอน...
นำมะพร้าวไปขูด คั้นกะทิ คั้นใบเตย นำเอาพืชผักผลไม้ ที่มีล้างให้สะอาด ปอกเปลือก แล้วนำมาตำ มาบด ให้ละเอียด ละลายน้ำกรองด้วยผ้าขาวบางแล้วนำมากวนให้เข้ากัน กับน้ำกะทิ
ใส่แป้งข้าวจ้าว น้ำตาล นม นมแมว เกลือ เสร็จแล้วนำไปกวนในกะทะบนเตาไฟ ประมาณ
30 - 40 นาที โดยกวนตลอดเวลา ขณะกำลังข้นก็ใส่ เนย แปแซ ข้าวเม่า พอสุกได้ที่เตรียมถาดใส่ โดยโรยเมล็ดถั่วลิสงผสมกับงาขั้ว รองก้นถาด เทข้าวทิพย์จากกะทะ ใส่ถาดแล้วโรยถั่วงาอีกครั้ง
นำข้าวทิพย์..ถวายพระ...... พอกวนข้าวทิพย์สำเร็จแล้ว ได้ข้าวทิพย์ 50 ถาด เก็บไว้ตักบาตรและถวายพระในตอนเช้าวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 11 ที่เหลือจากตักบาตร ก็แบ่งให้ญาติโยม พุทธศาสนิกชน ที่มาทำบุญ นำกลับไปรับประทานที่บ้าน ........เป็นอานิสงส์ของการมาทำบุญ ในวันออกพรรษา...........
ความเชื่อ..................ก่อนออกพรรษา 7 วัน ถึง หลังออกพรรษา 7 วัน จะต้องมีฝนตกเพื่อ ล้างหางประธูป ประทีป ความหมายคือ ......เป็นวันสิ้นสุดฤดูฝน ปีนี้ ออกพรรษาวันที่ 14 ตุลาคม ฝนตกวันไหน และจะตกอีกวันไหน ท่านทบทวนและ สังเกตดู เพราะเป็นช่วงการเปลี่ยนฤดู........ปลายฝน.......ต้นหนาว....นั่นเอง
ขอขอบคุณ..http://phram.net/ (พราหมณ์ดอทเน็ต)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น